Sunday, October 22, 2006

เจ็บหน้าอก อย่างไร ต้องมาห้องฉุกเฉิน

หลายๆท่านคงเคยมีอาการเจ็บหน้าอกกันมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ บางท่านคิดว่าเป็นโรคหัวใจ และผ่าน การตรวจอย่างละเอียดแล้ว พบว่าสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกไม่ได้เกิดจากหัวใจ แต่บางท่านอาจจะ ยังไม่ทราบว่า อาการเจ็บหน้าอกนี้ เกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ที่ร้ายแรงที่สุด คือ จากหัวใจ และ หลอดเลือด เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด หลอดอาหาร ไปจนถึงสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น จากกระดูกและกล้ามเนื้อ สาเหตุเหล่านี้มีอันตรายต่างกัน บทความนี้เน้นเฉพาะอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่น่าจะเกิดจากสาเหตุ ร้ายแรงที่ต้องรีบมาห้องฉุกเฉิน

เจ็บ แน่น หน้าอกตรงกลาง อย่างรุนแรง อาจจะมีอาการเจ็บร้าวไปที่แขน คอ หรือ คาง ร่วมด้วย จะไม่ใช่เจ็บแหลมๆ หรือ เสียวๆ หรือ แปล๊บๆ แต่จะเจ็บมาก บางรายมี เหงื่อแตก ผู้ป่วยหลายรายอธิบายอาการเจ็บหน้าอกเช่นนี้ว่า "เจ็บเหมือนจะขาดใจตาย " อาการเช่นนี้ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และ กล้ามเนื้อหัวใจกำลังขาดเลือด อย่างรุนแรง เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ Heart attack นั่นเอง โอกาสที่ผู้ป่วยจะ เสียชีวิตที่บ้านมีสูงมาก ดังนั้นจึงต้องรีบมาที่รพ. และ ควรตรงมาห้องฉุกเฉิน ไม่ควรรอ แพทย์ตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก นอกจากนั้นแล้วอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงดังกล่าว ยังอาจเกิดจาก " หลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด " หรือ Aortic Dissection ซึ่งพบได้ใน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีความจำเป็นที่จะต้องแยกจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยอาศัย ประวัติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจพิเศษบางอย่าง เนื่องจากแนวทางการรักษาแตกต่างกัน อย่างมาก

เจ็บ แน่น หน้าอก ร่วมกับ อาการหน้ามืด เป็นลม อาการแน่นหน้าอกแบบนี้ อาจจะเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดหัวใจด้านขวา) กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตัน (Pulmonary Embolism) หรือ เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดก็ได้ อาการหน้ามืดเป็นลม เกิดจาก การที่เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เพราะความดันโลหิตลดต่ำลง หรือ หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่ว่า จะช้า หรือ เร็วผิดปกติ อาการเช่นนี้ก็ต้องรีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉิน ไม่ใช่แผนกผู้ป่วยนอก

เจ็บหน้าอก ร่วมกับอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก โดยอาการเจ็บหน้าอก แบบนี้อาจรู้สึก " แน่นๆ " หรือ " แปล๊บๆ " ก็ได้ หากมีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก ร่วมด้วย สาเหตุอยู่ที่ปอดเป็นส่วนใหญ่ เช่น ถุงลมปอดฉีกขาด มีลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax) หลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตัน มีผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนผิดปกติ , ปอดอักเสบ ปอดบวม อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ก็อาจมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยได้ หากหายใจลำบากมาก แพทย์ อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งสามารถทำได้ทันทีที่ห้องฉุกเฉิน

ทำไมต้อง " ห้องฉุกเฉิน "

ห้องฉุกเฉินหรือ Emergency Room หรือ ER เป็นห้องที่มีเครื่องมือพร้อมในการช่วยชีวิตสำหรับ กรณีฉุกเฉินต่างๆ มียาที่จำเป็นต้องใช้ในกรณีเร่งด่วน และที่สำคัญคือมีบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝน พร้อมรับสถานะการณ์ดังกล่าว โรคหรือภาวะบางอย่าง หากได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาที่ล่าช้า จะมีผลให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) หากได้รับการรักษาภายใน 6 ชม.แรกหลังจากเจ็บหน้าอก ผลการรักษาในระยะยาวจะดีกว่าได้ยาหลัง 6 ชม.อย่างมาก หรือในผู้ป่วยที่หายใจลำบาก การใส่ท่อช่วยหายใจจะช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่เสียชีวิตจากการ ขาดอากาศ หากผู้ป่วยไปเสียเวลารอแพทย์ตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก อาจทำให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้า ไม่ทันท่วงที เป็นผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง ดังนั้น หากท่านมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือ มีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น หอบเหนื่อย หน้ามืดเป็นลม กรุณาตรงมาห้องฉุกเฉินครับ

0 Comments:

Post a Comment

<< Home