Friday, August 18, 2006

อาหารสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ

ความจริงแล้วคำว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจ ออกจะกว้างไปสักนิด ในที่นี้จะขอหมายถึง ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วย ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นสำคัญ อาหารสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้มีหลักอยู่ 3 ประการ คือ

1 หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง

จากการศึกษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง หรือ แม้แต่ยังไม่เป็นโรคหัวใจแต่ไขมันนี้สูง พบว่าการลดไขมัน โคเลสเตอรอลลงได้ ประโยชน์แน่นอน ยิ่งถ้าลดลงมากๆ ยิ่งได้ประโยชน์ เช่น ลดลงมากกว่าร้อยละ 25-30 จากระดับเดิม (แต่ต้องไม่ลดลงมามากจนเกินไป เพราะเซลสมอง ต้องการไขมันชนิดนี้ด้วย) เนื่องจากช่วยชลอการตีบของหลอดเลือดหัวใจ โดยทั่วไปการควบคุมอาหารไขมันสูงจะช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดลงได้ แต่อาจลดลงได้ไม่มากนัก (น้อยกว่าร้อยละ 20) จึงอาจต้องใช้ยาร่วมด้วยในบางราย อย่างไรก็ตามการควบคุมอาหารก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากยามีราคาแพง และ จำเป็นต้อง รักษาระยะยาวจึงจะเห็นผลดีของการลดไขมันในเลือด

ไขมันโคเลสเตอรอลเป็นไขมันที่มาจากสัตว์ ไม่พบในพืช ยกเว้นน้ำมันปาล์ม(บางชนิด) น้ำมันมะพร้าว ปัจจุบันเราหันมาใช้น้ำมันพืช กันเกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งส่วนมากไม่มีโคเลสเตอรอล ไขมันชนิดนี้มีอยู่ในเนื้อสัตว์แทบทุกชนิด ที่มีอยู่มาก คือ ที่เราเห็นๆว่ามันๆ เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ หนังเป็ด หนังไก่ ตับหมู ตับไก่ หมูสามชั้น หมูหรือเนื้อติด อาหารพวกเนื้อสัตว์จะมีไขมันมาก แม้แต่ไม่ติดมัน ก็ตาม ยกเว้นปลาจะมีไขมันโคเลสเตอรอลต่ำ (แถมยังมีไขมันชนิดดี เช่น EPA และ DHA มากด้วย) อาหารบางอย่างที่เราไม่ ค่อยรับประทานกันมากนัก แต่มีไขมันสูง เช่น สมองสัตว์ ไข่ปลา มันปู เครื่องในสัตว์ เป็นต้น สำหรับไข่ไก่ จะมีไขมันโคเลสเตอรอล สูงมาก (เมื่อเทียบกับน้ำหนัก) แต่มีเฉพาะไข่แดงเท่านั้น ส่วนไข่ขาวไม่มีไขมัน อาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม ก็มีไขมันชนิดนี้สูงเช่นกัน (แต่หากจะรับประทานกัน ตัว สองตัว นานๆครั้ง ก็คงไม่ว่ากัน) อาหารดังกล่าวเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง อาหารปะเภท Fast Food เช่น เบอร์เกอร์ พิซซา ล้วนอุดมด้วยไขมัน

รายงานล่าสุดพบว่าตัวการสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจในผู้นิยมรับประทาน Fast Food คือ สารที่เกิด จากการใช้น้ำมัน ที่ใช้ซ้ำๆในการทอดของร้าน Fast Food (เรียกว่า lipid oxidation products) Fast Food จึงเป็นอาหารที่ผู้ป่วย โรคหัวใจ ควรเลี่ยงเช่นกัน

สำหรับอาหารเสริม เช่น กระเทียมสด กระเทียมบรรจุเม็ด รวมทั้ง เลซิติน (lecithin) นั้น แม้จะมีคุณสมบัติช่วย ลดไขมันในเลือดอยู่บ้าง แต่ผลนั้นน้อยมาก และไม่แน่นอน จนแทบไม่มีความสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาแล้ว ผมไม่แนะนำให้ซื้อหามารับประทาน

2 หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม

ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานอาหารรสจัดมาก โดยเฉพาะรสเค็ม รสเผ็ด อาหารเค็มจะมีเกลือแกง (sodium chloride) มาก ซึ่งเมื่อรับประทาน เข้าไปจะทำให้ร่างกายดูดน้ำกลับเข้ากระแสเลือดมากขึ้น ปริมาณเลือดในร่างกายมากขึ้น หัวใจจะทำงาน หนักขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งหากหัวใจ และไตแข็งแรงดีก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะร่างกายมีขบวนการขับเกลือส่วนเกินออกอยู่แล้ว แต่หากหัวใจไม่ปกติ จะทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น และควบคุมได้ยากขึ้น ภาวะหัวใจล้มเหลวจะเลวลง มีอาการหอบเหนื่อย หรือ บวม ยิ่งถ้ามีไตเสื่อมหรือไตวายร่วมด้วย(ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจ) ก็จะยิ่งทำให้หัวใจทำงานแย่ลงไปอีก ในต่างประเทศแนะนำ ให้ผู้ป่วยรับประทานเกลือโปแตสเซียมแทน แต่ไม่มีจำหน่ายแพร่หลายในบ้านเรา ผู้ป่วย โรคหัวใจจึงควรรับประทานเค็มให้น้อย ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่รบกวนคุณภาพชีวิตมากจนเกินไป (บางรายไม่สามารถรับประทานอาหารจืดสนิทได้ เพราะเกิดอาการ เบื่ออาหาร)

3 เน้นอาหารที่มีเส้นใย (fiber)

อาหารที่มีกาก หรือ เส้นใยมากจะมีประโยชน์กับสุขภาพ ไม่ว่าจะมีโรคหัวใจหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากช่วยลดการดูดซึมไขมัน ป้องกันท้องผูก ช่วยลด โอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เร็วๆนี้มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาว่า ผู้หญิงที่รับประทานอาหารที่มีเส้นใย หรือกากมาก เช่น ซีเรียล เป็นประจำมีโอกาส เกิดโรคหัวใจลดลง โชคดีที่อาหารไทยมี fiber สูง เช่น ข้าว ชนิดต่างๆ นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบ มะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยกว่าชาติตะวันตกมาก อาหารจำพวกข้าวที่มี fiber มาก ได้แก่ ซีเรียล ข้าวโพด ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวแดง ขนมปังโฮลวีท จมูกข้าว หัวบุก เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีจำหน่ายตาม ร้านสุขภาพทั่วไป อาหารประเภทผักและถั่วก็ให้เส้นใยสูง แต่การรับประทานถั่วต้องระวังเรื่องไขมันด้วย ถั่วบางชนิดมีไขมันสูง เช่น ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย ผลไม้ที่มีกากมากได้แก่ ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะละกอ ละมุด โดยทั่วไปแล้ว หากรับประทาน อาหารไทย ให้ครบหมวดหมู่ ก็มักจะได้เส้นใย ที่เพียงพอ แต่บางคนเลือกไม่รับประทานผัก ผลไม้ ก็จะได้ fiber ลดลง ในผู้ป่วย บางรายที่รับประทานอาหาร ได้น้อย อาจให้ fiber ชนิดเม็ดเสริมได้

ทั้ง 3 หัวข้อเป็นหลักสำคัญของการเลือกอาหารในผู้ป่วยโรคหัวใจ จะเห็นว่าผมไม่ห้ามอาหารเผ็ด เพราะความเป็นจริงแล้ว พริกมีสาร “แคบไซซิน” ซึ่งอาจมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เลือดจับเป็นลิ่มง่าย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ อีกเรื่องที่ต้องขอกล่าวถึง เล็กน้อยในที่นี้คือ การดื่มไวน์ มีการโฆษณาอย่างมากตามสื่อต่างๆ ที่ทำให้ประชาชน (รวมทั้งผู้ที่คิดว่ามีการศึกษา) เข้าใจผิดว่า การดื่มไวน์จะช่วยบำรุงหัวใจ ล้างหรือลดไขมัน กลายมาเป็นการดื่มไวน์เพื่อสุขภาพไป

ความจริงแล้วไม่มีแพทย์โรคหัวใจ(ที่ดี)แนะนำให้ดื่มไวน์เพื่อป้องกันหรือบำรุงหัวใจเลย จริงอยู่ที่ว่า การดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อย (1-2 แก้วต่อวัน) อาจมีผลดีในแง่เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งเป็นผลดีต่อหัวใจ แต่ต้องดื่มในปริมาณที่ พอเหมาะ (ควบคุมยาก) เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผลเสียของไวน์และแอลกอฮอล์ทุกประเภท มีมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน ทั้งความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองแตก โรคตับแข็ง มะเร็งตับ อุบัติเหตุ เป็นต้น ผมรู้สึกดีใจที่การวิจัยล่าสุดบอกว่า การที่ชาว ฝรั่งเศสเกิดโรคหัวใจต่ำกว่าชาวอังกฤษ ไม่ได้เกิดจากการดื่มไวน์แดงมากกว่าชาวอังกฤษ แต่เกิดการรับประทานไขมันอิ่มตัว ที่ได้จากเนื้อสัตว์น้อยกว่า (รายละเอียดที่นี่) ปัจจุบันชาวฝรั่งเศส เกิดโรคหัวใจมากขึ้น ทั้งๆที่ดื่มไวน์เท่าเดิม เป็นเพราะรับประทาน อาหารไขมันสูงมากขึ้น (เหมือนเราที่ตามก้นฝรั่งมาตลอด) นอกจากนั้นแล้ว หากผู้ป่วยโรคหัวใจมี “โรคอ้วน” หรือ เบาหวาน อยู่ด้วยคงจำเป็นต้อง ควบคุมอาหารหวาน น้ำตาล น้ำอัดลม และผลไม้หวาน

0 Comments:

Post a Comment

<< Home