Tuesday, October 24, 2006

การรักษาโรคหัวใจ

หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ

กล้ามเนื้อหัวใจตาย

สาเหตุ : หลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน เนื่องจากแผ่นไขมัน และ ลิ่มเลือด ปัจจัยเสี่ยง (อายุ เพศชาย พันธุกรรม ไขมันในเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง บุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย) แม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็เป็นได้

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการเจ็บหน้าอก, อายุยาวขึ้น, คุณภาพชีวิตดีขึ้น

หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ให้ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด แอสไพริน (ถ้าไม่มีข้อห้าม) หากควบคุมอาการไม่ได้ดี ควรฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน หรือ ผ่าตัดหัวใจ (บายพาส) หากเกิดหลอดเลือดอุนตันภายใน 6 ชม. แพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หากหัวใจเสียมาก บีบตัวน้อย การพยากรณ์โรคไม่ดี

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : งดบุหรี่ รับประทานยาลดไขมันในเลือดหากควบคุมอาหารไม่ได้ ผลดี ให้โคเลสเตอรอลน้อยกว่า 200, LDL น้อยกว่า 100 ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิต ให้ปกติ ออกกำลังกาย ตามสมควร หากแน่นหน้าอกรุนแรงต้องรีบมารพ.ใกล้ที่สุดทันที ยิ่งมาเร็วยิ่งดี

ความดันโลหิตสูง

สาเหตุ : มากกว่าร้อยละ 95 ไม่มีสาเหตุ กลุ่มที่มีสาเหต ุคือ ไตวาย (บ่อยที่สุด) ความผิดปกติของ หลอดเลือด เนื้องอกบางชนิด

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดปัญหาแทรกซ้อนจากความดันสูงในระยะยาว คือ ลดอัมพาต ลดโรคหัวใจ ลดไตวาย แต่ก็ยังไม่สามารถลดได้ 100 % ยังคงเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนดังกล่าวอยู่บ้าง

หลักการรักษา : ควบคุมความดันโลหิตด้วยยา มียาหลายกลุ่มมาก เช่น ยาลดชีพจร ยาต้านแคลเซียม ยาขับปัสสาวะ ยา ACEI ฯลฯ ยาที่ดีควรครอบคลุม 24 ชม. ไม่มียาใดที่ไม่มีผลแทรกซ้อน แต่การไม่รักษา มีผลเสียมากกว่า

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาด ส่วนใหญ่จำเป็นต้องรับประทานยาตลอดไป มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนน้อยที่หยุดยาได้ แต่ต้องติดตามวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : ลดอาหารเค็ม รับประทานยาสม่ำเสมอ ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) อย่าให้เป็นเ บาหวาน หรือ ไขมันสูง ควรมีเครื่องวัดความดันที่บ้าน เนื่องจากค่าใกล้เคียงกับความจริง มากกว่าวัดที่รพ. (white-coat effect) เลือกรักษาที่สะดวก อย่าเปลี่ยน แพทย์บ่อยๆ หากจำเป็นนำยาเดิมไปด้วยทุกครั้ง

หัวใจล้มเหลว

สาเหตุ : โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจตีบรั่ว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัส เบาหวาน แอลกอฮอล์ (รวมทั้งไม่มีสาเหตุ)

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการหอบเหนื่อย หรือ บวม, อายุยาวขึ้น, คุณภาพชีวิตดีขึ้น

หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดน้ำในปอด ยาขยายหลอดเลือดช่วยให้หัวใจ ทำงานสบายขึ้น ยากระตุ้นหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว บางรายต้องรักษาตามสาเหตุด้วย เช่น ผ่าตัดแก้ไขลิ้นหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นต้น หากหัวใจเต้นผิดจังหวะก็ต้องให้ยาควบคุม

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หากหัวใจเสียมาก บีบตัวน้อย การพยากรณ์โรคไม่ดี

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : รับการรักษาสม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยา ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะยา หลายอย่างมีผลแทรกซ้อนมาก หากแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมาก ต้องรีบมารพ.ใกล้ที่สุดทันที

ลิ้นหัวใจตีบ / ลิ้นหัวใจรั่ว

สาเหตุ : การติดเชื้อในวัยเด็ก (โรคหัวใจรูมาติก) หรือ ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ เกิดจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจ เช่น อายุมาก หรือ เป็นแต่กำเนิด

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการหอบเหนื่อยจากหัวใจล้มเหลว, อายุยาวขึ้น, คุณภาพชีวิตดีขึ้น

หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ในกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว จะให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดน้ำในปอด ยาขยายหลอดเลือดช่วยให้หัวใจ ทำงานสบายขึ้น นอกจากนั้นแล้ว จำเป็นต้อง ผ่าตัดแก้ไขลิ้นหัวใจด้วย เช่น ซ่อมลิ้น หรือ เปลี่ยนลิ้นหัวใจ หากหัวใจเต้นผิดจังหวะก็ต้องให้ยาควบคุม ในกรณีที่เป็นน้อยไม่ต้องการ การรักษา

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หากลิ้นหัวใจเสียมาก และไม่ผ่าตัดแก้ไข หรือ ผ่าตัดช้าไป การพยากรณ์โรคจะไม่ดี

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : เมื่อลิ้นหัวใจผิดปกติมาก แพทย์แนะนำผ่าตัดก็ควรผ่าตัด หากมีลิ้นหัวใจเทียม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะโอกาสติดเชื้อสูง เลือดออกง่าย ไม่ควรซื้อยาเองแม้แต่ยาหวัด หากทำฟัน ขูดหินปูน ผ่าตัดใดๆ ต้องแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง สำหรับสตรีที่ต้องการตั้งครรภ์ต้องแจ้งแพทย์ก่อนเช่นกัน

กล้ามเนื้อหัวใจพิการ

สาเหตุ : กล้ามเนื้อหัวใจพิการจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัส เบาหวาน แอลกอฮอล์ (รวมทั้งไม่มีสาเหตุ)

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการหอบเหนื่อย หรือ บวม, อายุยาวขึ้น, คุณภาพชีวิตดีขึ้น

หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดน้ำในปอด ยาขยายหลอดเลือดช่วยให้หัวใจ ทำงานสบายขึ้น ยากระตุ้นหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว หากหัวใจเต้นผิดจังหวะก็ต้องให้ยาควบคุม ในรายที่รุนแรง การรักษาที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หากหัวใจเสียมาก บีบตัวน้อย การพยากรณ์โรคไม่ดี

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : งดอาหารเค็ม รับการรักษาสม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยา ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะยา หลายอย่างมีผลแทรกซ้อนมาก หากแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมาก ต้องรีบมารพ.ใกล้ที่สุดทันที

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

สาเหตุ : การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย วัณโรค เอดส์ ไตวาย SLE มะเร็ง (รวมทั้งไม่มีสาเหตุ)

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการเจ็บหน้าอก ลดน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ

หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ให้ยาต้านการอักเสบ รักษาสาเหตุ หากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ อาจต้องเจาะหรือผ่าตัดระบายออก

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่หายขาดขึ้นกับสาเหตุ การพยากรณ์โรคขึ้นกับสาเหตุ

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : อาการเยื่อหุ้หัวใจอักเสบจากไวรัส อาจพบร่วมกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย ซึ่งต้องระวัง เพราะมีโอกาสหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียชีวิตได้

โรคอ้วน

สาเหตุ : อาหารให้พลังงานสูง เช่น ไขมัน ขนมหวาน พันธุกรรม พฤติกรรมการบริโภค

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดน้ำหนัก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ควบคุมอาหาร ลดมัน ลดหวาน งดแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายมากขึ้น

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : ขึ้นกับความตั้งใจจริงที่จะควบคุมน้ำหนัก

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : ต้องตั้งใจจริง

เบาหวาน กับ โรคหัวใจ

สาเหตุ : เบาหวานทำให้หลอดเลือดเสื่อมทั้งร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจ

จุดมุ่งหมายการรักษา : ป้องกันผลแทรกซ้อนจากเบาหวาน, อายุยาวขึ้น, คุณภาพชีวิตดีขึ้น

หลักการรักษา : ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติที่สุด ด้วยการคุมอาหาร ยาลดน้ำตาล ยาฉีดเมื่อจำเป็น หากมีไขมันในเลือดสูงก็ต้องรักษาด้วย

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หากมีผลแทรกซ้อน แล้ว การพยากรณ์โรคมักไม่ดี

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : หลียกเลี่ยงน้ำตาล น้ำอัดลม ขนมหวาน ผลไม้หวานจัด (เงาะ ลิ้นจี่ ลำใย องุ่น) ใช้นำตาลเทียมแทน ตรวจสุขภาพระบบอื่นๆด้วย เพราะเบาหวานมีผลต่อทุกระบบในร่างกาย

ไขมันในเลือดสูง

สาเหตุ : บริโภคอาหารไขมันสูง พันธุกรรม โรคบางขนิด

จุดมุ่งหมายการรักษา : ป้องกันผลแทรกซ้อนจากไขมัน หลอดเลือดสมอง หัวใจ ตีบ

หลักการรักษา : ควบคุมไขมันในเลือด โคเลสเตอรอลควรน้อยกว่า 200, LDL น้อยกว่า 130 (น้อยกว่า 100 ในผู้ป่วยโรคหัวใจ) โดยมากมักต้องใช้ยาช่วยจึงจะได้ระดับต่ำขนาดนี้

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : การรักษาเป็นการหวังผลระยะยาว แม้ว่าอาจไม่ได้ผลในการ ป้องกันโรคหัวใจกับทุกคน

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : หลียกเลี่ยงอาหารไขมันสูงทุกประเภท ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายมากขึ้น

ใจสั่น ใจเต้นแรง

สาเหตุ : อาจเป็นปกติ อาจพบได้ในคนปกติ หรือ โรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคหัวใจก็ได้ หรือ เกิดจากหัวใจ เต้นผิดจังหวะ

จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการ ป้องกันการเกิดอัมพาต (ในกรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด)

หลักการรักษา : ควบคุมการเต้นหัวใจด้วยยา หากไม่ได้ผล หรือ อาการมาก อาจใช้คลื่นวิทยุจี้ทำลาย วงจรไฟฟ้าหัวใจ

ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : ขึ้นกับชนิดของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : หัดจับชีพจรตัวเองเมื่อเวลาเกิดอาการ เพราะบางครั้งรู้สึกใจสั่น แต่ความจริงแล้วอัตราการเต้นปกติก็ได้

โรคหัวใจ

คำว่า โรคหัวใจเป็นคำที่กว้างมาก ฟังดูน่ากลัวมากสำหรับผู้ป่วย ในความเป็นจริงแล้วโรคหัวใจแบ่งย่อยออกได้มากมายหลายชนิด ความรุนแรง และความจำเป็นในการรักษาก็แตกต่างกัน ดังนั้นหากคุณหมอบอกท่านว่าท่านเป็นโรคหัวใจ ท่านควรจะทราบ รายละเอียดเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ของท่านมากขึ้น ว่าท่านเป็นโรคหัวใจชนิดใด เกิดจากอะไรและมีแนวทางการรักษาอย่างไร

เราอาจแบ่งชนิดของโรคหัวใจคร่าวๆได้ดังนี้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นมาตั้งแต่เกิด บางครั้งวินิจฉัยได้แต่แรกคลอด แต่บางครั้งก็ไม่มีอาการใดๆ จนกว่าจะอายุมากก็มี ความผิดปกตินี้อาจเกิดขึ้นกับทุกส่วนของหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ หรือ ตัวห้องหัวใจเอง มีสภาพไม่สมบูรณ์ เหมือน บ้านที่สร้างไม่เสร็จ มีรอยโหว่ รู้รั่ว ประตูปิดไม่ดี น้ำท่วม เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วเรา ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เชื่อว่าการติดเชื้อไวรัสและการได้รับสารเคมี เช่น ยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์อ่อนๆอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ความผิดปกติเหล่านี้หลายอย่างสามารถผ่าตัดแก้ไขได้ แต่บางครั้งก็ทำอะไรไม่ได้

โรคลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจพิการอาจเป็นแต่กำเนิดหรือมาเป็นภายหลังได้ ที่มาเป็นภายหลังส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อคออักเสบ และไม่ได้รับการรักษา อย่างถูกต้อง ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อต้านหัวใจตัวเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ และ เกิดลิ้นหัวใจพิการ (ตีบ รั่ว) ตามมา นอกจากนั้นลิ้นหัวใจพิการยัง อาจเกิดจากการติดเชื้อที่หัวใจโดยตรง หรือเกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจเอง โดยมากแล้วเราสามารถผ่าตัดแก้ไขได้

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไม่ว่าจะบีบ หรือ คลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ เป็นต้น โรคที่พบบ่อย คือ กล้ามเนื้อหัวใจเสีย เนื่องจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย บางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น ยังมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (อาจเกิดจากการ ติดเชื้อไวรัส) ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางและบีบตัวอ่อนกว่าปกติมาก การรักษาโรคของกล้ามเนื้อหัวใจนี้ อาศัยการแก้ไขที่สาเหตุ เช่น ขยายหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดบายพาส ส่วนหากไม่ได้ผลหรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ การรักษาสุดท้ายคือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด เป็นโรคกลุ่มเดียวกัน เพราะหลอดเลือดหัวใจจะนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อหลอดเลือด ผิดปกติจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การทำงานจึงผิดปกติ โรคของหลอดเลือดหัวใจอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสะสม ของไขมันที่ผนัง ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด (ไม่ใช่มีก้อนไขมันในเลือดลอย ไปอุดตัน ตามที่เข้าใจกัน)

โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นโรคที่พบไม่บ่อย ส่วนใหญ่เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย หรือ เชื้อวัณโรค โรคนี้ส่วนใหญ่รักษาได้ ยกเว้นกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายมายังเยื่อหุ้มหัวใจ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กลุ่มนี้มีหลายชนิดมาก บางชนิดไม่เป็นอันตราย บางชนิดอันตรายมาก (ส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ร้ายแรง มักมีความผิดปกติ ของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจด้วย) สาเหตุเกิดจากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติไป เช่น มีจุดกำเนิด ไฟฟ้าแปลกปลอมขึ้น หรือ เกิดทางลัด (เรียกง่ายๆว่า ไฟช็อต) ในระบบ เป็นต้น

การติดเชื้อที่หัวใจ พบได้บ่อยในผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ หรือ ติดยาเสพติดชนิดฉีด โดยมากเกิดการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการรักษา อย่างมาก โรคหัวใจในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีลักษณะของโรคหลากหลายมาก

มะเร็งที่หัวใจ คุณคงได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับมะเร็งตามอวัยวะต่างๆบ่อยๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก ไต เต้านม มดลูก และ ปากมดลูก รังไข่ ฯลฯ แต่น้อยครั้ง มากที่จะได้ยินมะเร็งหัวใจเพราะเนื้องอกที่หัวใจพบได้น้อย ส่วนใหญ่ของมะเร็งหัวใจ เกิดจากมะเร็งอวัยวะข้างเคียงลุกลามมายังหัวใจ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นการจัดกลุ่มใหญ่ๆซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก แต่จะเห็นว่าผมไม่กล่าวถึง โรคหัวใจอ่อน” “โรคประสาทหัวใจ” “โรคหัวใจโตเลย เพราะความจริงแล้ว ไม่มีโรคนี้ ขอเน้นอีกครั้งว่า โรคหัวใจอ่อน และ โรคประสาทหัวใจ ไม่ใช่โรคหัวใจ ส่วนใหญ่เกิดจากความกังวล ส่วนหัวใจโตนั้นเป็นภาวะมากกว่าที่จะเป็นโรค และ ต้องทราบ ว่าสาเหตุที่หัวใจโตนั้น เกิดจากโรคอะไร คำว่าหัวใจโตเฉยๆจึงไม่มีความหมายใดๆ

อาหาร สำหรับผู้ป่วย โรคหัวใจ

ความจริงแล้วคำว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจ ออกจะกว้างไปสักนิด ในที่นี้จะขอหมายถึง ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วย ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นสำคัญ อาหารสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้มีหลักอยู่ 3 ประการ คือ

1 หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง

จากการศึกษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง หรือ แม้แต่ยังไม่เป็นโรคหัวใจแต่ไขมันนี้สูง พบว่าการลดไขมัน โคเลสเตอรอลลงได้ ประโยชน์แน่นอน ยิ่งถ้าลดลงมากๆ ยิ่งได้ประโยชน์ เช่น ลดลงมากกว่าร้อยละ 25-30 จากระดับเดิม (แต่ต้องไม่ลดลงมามากจนเกินไป เพราะเซลสมอง ต้องการไขมันชนิดนี้ด้วย) เนื่องจากช่วยชลอการตีบของหลอดเลือดหัวใจ โดยทั่วไปการควบคุมอาหารไขมันสูงจะช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดลงได้ แต่อาจลดลงได้ไม่มากนัก (น้อยกว่าร้อยละ 20) จึงอาจต้องใช้ยาร่วมด้วยในบางราย อย่างไรก็ตามการควบคุมอาหารก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากยามีราคาแพง และ จำเป็นต้อง รักษาระยะยาวจึงจะเห็นผลดีของการลดไขมันในเลือด

ไขมันโคเลสเตอรอลเป็นไขมันที่มาจากสัตว์ ไม่พบในพืช ยกเว้นน้ำมันปาล์ม(บางชนิด) น้ำมันมะพร้าว ปัจจุบันเราหันมาใช้น้ำมันพืช กันเกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งส่วนมากไม่มีโคเลสเตอรอล ไขมันชนิดนี้มีอยู่ในเนื้อสัตว์แทบทุกชนิด ที่มีอยู่มาก คือ ที่เราเห็นๆว่ามันๆ เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ หนังเป็ด หนังไก่ ตับหมู ตับไก่ หมูสามชั้น หมูหรือเนื้อติด อาหารพวกเนื้อสัตว์จะมีไขมันมาก แม้แต่ไม่ติดมัน ก็ตาม ยกเว้นปลาจะมีไขมันโคเลสเตอรอลต่ำ (แถมยังมีไขมันชนิดดี เช่น EPA และ DHA มากด้วย) อาหารบางอย่างที่เราไม่ ค่อยรับประทานกันมากนัก แต่มีไขมันสูง เช่น สมองสัตว์ ไข่ปลา มันปู เครื่องในสัตว์ เป็นต้น สำหรับไข่ไก่ จะมีไขมันโคเลสเตอรอล สูงมาก (เมื่อเทียบกับน้ำหนัก) แต่มีเฉพาะไข่แดงเท่านั้น ส่วนไข่ขาวไม่มีไขมัน อาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม ก็มีไขมันชนิดนี้สูงเช่นกัน (แต่หากจะรับประทานกัน ตัว สองตัว นานๆครั้ง ก็คงไม่ว่ากัน) อาหารดังกล่าวเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง อาหารปะเภท Fast Food เช่น เบอร์เกอร์ พิซซา ล้วนอุดมด้วยไขมัน

รายงานล่าสุดพบว่าตัวการสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจในผู้นิยมรับประทาน Fast Food คือ สารที่เกิด จากการใช้น้ำมัน ที่ใช้ซ้ำๆในการทอดของร้าน Fast Food (เรียกว่า lipid oxidation products) Fast Food จึงเป็นอาหารที่ผู้ป่วย โรคหัวใจ ควรเลี่ยงเช่นกัน

สำหรับอาหารเสริม เช่น กระเทียมสด กระเทียมบรรจุเม็ด รวมทั้ง เลซิติน (lecithin) นั้น แม้จะมีคุณสมบัติช่วย ลดไขมันในเลือดอยู่บ้าง แต่ผลนั้นน้อยมาก และไม่แน่นอน จนแทบไม่มีความสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาแล้ว ผมไม่แนะนำให้ซื้อหามารับประทาน

2 หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม

ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานอาหารรสจัดมาก โดยเฉพาะรสเค็ม รสเผ็ด อาหารเค็มจะมีเกลือแกง (sodium chloride) มาก ซึ่งเมื่อรับประทาน เข้าไปจะทำให้ร่างกายดูดน้ำกลับเข้ากระแสเลือดมากขึ้น ปริมาณเลือดในร่างกายมากขึ้น หัวใจจะทำงาน หนักขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งหากหัวใจ และไตแข็งแรงดีก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะร่างกายมีขบวนการขับเกลือส่วนเกินออกอยู่แล้ว แต่หากหัวใจไม่ปกติ จะทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น และควบคุมได้ยากขึ้น ภาวะหัวใจล้มเหลวจะเลวลง มีอาการหอบเหนื่อย หรือ บวม ยิ่งถ้ามีไตเสื่อมหรือไตวายร่วมด้วย(ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจ) ก็จะยิ่งทำให้หัวใจทำงานแย่ลงไปอีก ในต่างประเทศแนะนำ ให้ผู้ป่วยรับประทานเกลือโปแตสเซียมแทน แต่ไม่มีจำหน่ายแพร่หลายในบ้านเรา ผู้ป่วย โรคหัวใจจึงควรรับประทานเค็มให้น้อย ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่รบกวนคุณภาพชีวิตมากจนเกินไป (บางรายไม่สามารถรับประทานอาหารจืดสนิทได้ เพราะเกิดอาการ เบื่ออาหาร)

3 เน้นอาหารที่มีเส้นใย (fiber)

อาหารที่มีกาก หรือ เส้นใยมากจะมีประโยชน์กับสุขภาพ ไม่ว่าจะมีโรคหัวใจหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากช่วยลดการดูดซึมไขมัน ป้องกันท้องผูก ช่วยลด โอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เร็วๆนี้มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาว่า ผู้หญิงที่รับประทานอาหารที่มีเส้นใย หรือกากมาก เช่น ซีเรียล เป็นประจำมีโอกาส เกิดโรคหัวใจลดลง (รายละเอียดที่นี่) โชคดีที่อาหารไทยมี fiber สูง เช่น ข้าว ชนิดต่างๆ นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบ มะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยกว่าชาติตะวันตกมาก อาหารจำพวกข้าวที่มี fiber มาก ได้แก่ ซีเรียล ข้าวโพด ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวแดง ขนมปังโฮลวีท จมูกข้าว หัวบุก เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีจำหน่ายตาม ร้านสุขภาพทั่วไป อาหารประเภทผักและถั่วก็ให้เส้นใยสูง แต่การรับประทานถั่วต้องระวังเรื่องไขมันด้วย ถั่วบางชนิดมีไขมันสูง เช่น ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย ผลไม้ที่มีกากมากได้แก่ ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะละกอ ละมุด โดยทั่วไปแล้ว หากรับประทาน อาหารไทย ให้ครบหมวดหมู่ ก็มักจะได้เส้นใย ที่เพียงพอ แต่บางคนเลือกไม่รับประทานผัก ผลไม้ ก็จะได้ fiber ลดลง ในผู้ป่วย บางรายที่รับประทานอาหาร ได้น้อย อาจให้ fiber ชนิดเม็ดเสริมได้

ทั้ง 3 หัวข้อเป็นหลักสำคัญของการเลือกอาหารในผู้ป่วยโรคหัวใจ จะเห็นว่าผมไม่ห้ามอาหารเผ็ด เพราะความเป็นจริงแล้ว พริกมีสาร แคบไซซินซึ่งอาจมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เลือดจับเป็นลิ่มง่าย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ อีกเรื่องที่ต้องขอกล่าวถึง เล็กน้อยในที่นี้คือ การดื่มไวน์ มีการโฆษณาอย่างมากตามสื่อต่างๆ ที่ทำให้ประชาชน (รวมทั้งผู้ที่คิดว่ามีการศึกษา) เข้าใจผิดว่า การดื่มไวน์จะช่วยบำรุงหัวใจ ล้างหรือลดไขมัน กลายมาเป็นการดื่มไวน์เพื่อสุขภาพไป

ความจริงแล้วไม่มีแพทย์โรคหัวใจ(ที่ดี)แนะนำให้ดื่มไวน์เพื่อป้องกันหรือบำรุงหัวใจเลย จริงอยู่ที่ว่า การดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อย (1-2 แก้วต่อวัน) อาจมีผลดีในแง่เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งเป็นผลดีต่อหัวใจ แต่ต้องดื่มในปริมาณที่ พอเหมาะ (ควบคุมยาก) เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผลเสียของไวน์และแอลกอฮอล์ทุกประเภท มีมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน ทั้งความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองแตก โรคตับแข็ง มะเร็งตับ อุบัติเหตุ เป็นต้น ผมรู้สึกดีใจที่การวิจัยล่าสุดบอกว่า การที่ชาว ฝรั่งเศสเกิดโรคหัวใจต่ำกว่าชาวอังกฤษ ไม่ได้เกิดจากการดื่มไวน์แดงมากกว่าชาวอังกฤษ แต่เกิดการรับประทานไขมันอิ่มตัว ที่ได้จากเนื้อสัตว์น้อยกว่า (รายละเอียดที่นี่) ปัจจุบันชาวฝรั่งเศส เกิดโรคหัวใจมากขึ้น ทั้งๆที่ดื่มไวน์เท่าเดิม เป็นเพราะรับประทาน อาหารไขมันสูงมากขึ้น (เหมือนเราที่ตามก้นฝรั่งมาตลอด) นอกจากนั้นแล้ว หากผู้ป่วยโรคหัวใจมี โรคอ้วนหรือ เบาหวาน อยู่ด้วยคงจำเป็นต้อง ควบคุมอาหารหวาน น้ำตาล น้ำอัดลม และผลไม้หวานจัดร่วมด้วย

Sunday, October 22, 2006

เจ็บหน้าอก อย่างไร ต้องมาห้องฉุกเฉิน

หลายๆท่านคงเคยมีอาการเจ็บหน้าอกกันมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ บางท่านคิดว่าเป็นโรคหัวใจ และผ่าน การตรวจอย่างละเอียดแล้ว พบว่าสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกไม่ได้เกิดจากหัวใจ แต่บางท่านอาจจะ ยังไม่ทราบว่า อาการเจ็บหน้าอกนี้ เกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ที่ร้ายแรงที่สุด คือ จากหัวใจ และ หลอดเลือด เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด หลอดอาหาร ไปจนถึงสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น จากกระดูกและกล้ามเนื้อ สาเหตุเหล่านี้มีอันตรายต่างกัน บทความนี้เน้นเฉพาะอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่น่าจะเกิดจากสาเหตุ ร้ายแรงที่ต้องรีบมาห้องฉุกเฉิน

เจ็บ แน่น หน้าอกตรงกลาง อย่างรุนแรง อาจจะมีอาการเจ็บร้าวไปที่แขน คอ หรือ คาง ร่วมด้วย จะไม่ใช่เจ็บแหลมๆ หรือ เสียวๆ หรือ แปล๊บๆ แต่จะเจ็บมาก บางรายมี เหงื่อแตก ผู้ป่วยหลายรายอธิบายอาการเจ็บหน้าอกเช่นนี้ว่า "เจ็บเหมือนจะขาดใจตาย " อาการเช่นนี้ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และ กล้ามเนื้อหัวใจกำลังขาดเลือด อย่างรุนแรง เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ Heart attack นั่นเอง โอกาสที่ผู้ป่วยจะ เสียชีวิตที่บ้านมีสูงมาก ดังนั้นจึงต้องรีบมาที่รพ. และ ควรตรงมาห้องฉุกเฉิน ไม่ควรรอ แพทย์ตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก นอกจากนั้นแล้วอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงดังกล่าว ยังอาจเกิดจาก " หลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด " หรือ Aortic Dissection ซึ่งพบได้ใน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีความจำเป็นที่จะต้องแยกจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยอาศัย ประวัติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจพิเศษบางอย่าง เนื่องจากแนวทางการรักษาแตกต่างกัน อย่างมาก

เจ็บ แน่น หน้าอก ร่วมกับ อาการหน้ามืด เป็นลม อาการแน่นหน้าอกแบบนี้ อาจจะเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดหัวใจด้านขวา) กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตัน (Pulmonary Embolism) หรือ เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดก็ได้ อาการหน้ามืดเป็นลม เกิดจาก การที่เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เพราะความดันโลหิตลดต่ำลง หรือ หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่ว่า จะช้า หรือ เร็วผิดปกติ อาการเช่นนี้ก็ต้องรีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉิน ไม่ใช่แผนกผู้ป่วยนอก

เจ็บหน้าอก ร่วมกับอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก โดยอาการเจ็บหน้าอก แบบนี้อาจรู้สึก " แน่นๆ " หรือ " แปล๊บๆ " ก็ได้ หากมีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก ร่วมด้วย สาเหตุอยู่ที่ปอดเป็นส่วนใหญ่ เช่น ถุงลมปอดฉีกขาด มีลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax) หลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตัน มีผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนผิดปกติ , ปอดอักเสบ ปอดบวม อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ก็อาจมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยได้ หากหายใจลำบากมาก แพทย์ อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งสามารถทำได้ทันทีที่ห้องฉุกเฉิน

ทำไมต้อง " ห้องฉุกเฉิน "

ห้องฉุกเฉินหรือ Emergency Room หรือ ER เป็นห้องที่มีเครื่องมือพร้อมในการช่วยชีวิตสำหรับ กรณีฉุกเฉินต่างๆ มียาที่จำเป็นต้องใช้ในกรณีเร่งด่วน และที่สำคัญคือมีบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝน พร้อมรับสถานะการณ์ดังกล่าว โรคหรือภาวะบางอย่าง หากได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาที่ล่าช้า จะมีผลให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) หากได้รับการรักษาภายใน 6 ชม.แรกหลังจากเจ็บหน้าอก ผลการรักษาในระยะยาวจะดีกว่าได้ยาหลัง 6 ชม.อย่างมาก หรือในผู้ป่วยที่หายใจลำบาก การใส่ท่อช่วยหายใจจะช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่เสียชีวิตจากการ ขาดอากาศ หากผู้ป่วยไปเสียเวลารอแพทย์ตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก อาจทำให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้า ไม่ทันท่วงที เป็นผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง ดังนั้น หากท่านมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือ มีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น หอบเหนื่อย หน้ามืดเป็นลม กรุณาตรงมาห้องฉุกเฉินครับ

ดื่มชา ป้องกันโรคหัวใจ

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องสุขภาพ คงทราบว่ามีอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด ที่มีข่าวว่าสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ การดื่มชาก็เช่นกัน ชาวจีน นิยมดื่มชาเพื่อล้างไขมันมานานแล้ว เช่นเดียวกันกับชาวอังกฤษและญี่ปุ่นที่นิยมดื่มชา ชาในที่นี้ หมายถึงชาที่ได้จากใบชาต่างๆ รวมทั้งชาเขียว แต่ไม่ รวมชาสมุนไพรนะครับ เร็วๆนี้มีผลการวิจัยเกี่ยวกับการดื่มชาว่ามี ผลป้องกันโรคหัวใจ ลองมาดูกันนะครับว่าจริงไหม

ทำไมจึงมีผู้สนใจเรื่อง "ชา"

เริ่มต้นมาจากการที่พบว่า "ชา" มีสารที่เรียกว่า ฟลาโวนอยส์ (flavonoids) สูง สารนี้มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ต่อต้าน อนุมูลอิสระ (anti- oxidant) การที่ไขมัน โคเลสเตอรอลจะผ่านเข้าไปสะสมในผนังของหลอดเลือดหัวใจได้นั้น จะต้อง ผ่านขบวนการที่เรียกว่า oxidation ก่อน คราวนี้หากร่างกายมีสาร anti-oxidants มากๆ ก็จะต่อต้านขบวนการนี้ ทำให้ไขมัน โคเลสเตอรอลสะสมในผนังหลอดเลือดแดงยากขึ้น ผลที่ตามมา จึงป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้นั่นเอง สาร flavonoids นี้ยังพบมากในผัก ผลไม้ รวมทั้งน้ำองุ่นและไวน์แดงด้วย สำหรับสาร anti-oxidants นอกจาก flavonoids แล้ว ยังมีมากมาย หลายชนิด เช่น vitamin E vitamin C เบต้าแคโรทีน สารจากต้นแป๊ะก๊วย (gingko) เป็นต้น ในเมื่อไวน์แดง มีสาร flavonoids มาก ครั้งหนึ่งยังเคยเชื่อว่าป้องกันโรคหัวใจ (ปัจจุบันชักไม่เชื่อกันแล้ว) แล้วทำไม "ชา" จะไม่ป้องกันโรคหัวใจ

การศึกษาล่าสุด

คุณหมอ Michael Gaziano เป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจจากรพ. Brigham & Women's hospital เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาโดยรวบรวม ข้อมูลย้อนหลัง ศึกษาผู้ป่วยชายและหญิง 340 รายที่เป็นโรคหัวใจ แล้วมาดูประวัติการดื่มชา เปรียบ เทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคหัวใจ ในวัยใกล้กัน พบว่า การดื่มชาวันละ 1 ถ้วยสามารถลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจลงได้มากถึงร้อยละ 44

เชื่อหรือไม่

ผมตอบโดยเป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ว่า "มั่วนิ่ม" ทำไมหรือครับ
1 การศึกษานี้เป็นการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง (case-control study) การศึกษาชนิดนี้มีข้อเสียมาก เพราะมีตัวแปร
จำนวนมากมาเกี่ยวข้อง หากทำไม่ดีจริงๆแล้ว ผลที่ได้จะไม่ถูกต้องเลย


2 จำนวนประชากรที่ใช้ในการศึกษานี้น้อยมาก น้อยเกินไปสำหรับการศึกษาชนิดนี้ เพียง 340 ราย แต่ให้ผลดีมากขนาดลดการเกิด โรคหัวใจลงมากขนาดนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่ anti-oxidants อื่นๆ เช่น vitamin E vitamin C หรือ เบต้าแคโรทีน ยังไม่ดีเท่านี้เลย

3 คิดง่ายๆ คนอังกฤษดื่มชากันทุกวัน ดื่มมาตั้งแต่ยังอายุน้อย แต่ทำไมโรคหัวใจขาดเลือดยังพบมากพอๆกับคนอเมริกันที่นิยม กาแฟมากกว่าชา

จริงๆแล้วผมเพียงอยากจะบอกว่า ในยุคข้อมูลข่าวสารนี้ ข่าวสุขภาพก็เป็นอันหนึ่งที่ต้องฟัง วิเคราะห์ ด้วยเหตุผล ถามผู้รู้จริง ก่อนที่จะปักใจเชื่อ ที่โฆษณากันมากมายตามวิทยุ ถึงผลดีของ anti-oxidants มีสักกี่ชนิดที่มีข้อมูลที่ศึกษากันอย่างดี ปราศจากอคติ ผมยังไม่เห็นมีเลย

ป้องกันโรคหัวใจ

ในภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแพงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชนก็ตาม ผลดีคือเป็นการเตือน ให้เราคิดถึงการป้องกันโรคมากยิ่งขึ้น ความเป็นจริงแล้วใครๆก็รู้ว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่น่าเสียดายที่โรคบางโรคตัว เราเองมีส่วน ช่วยส่งเสริมให้เกิดขึ้น เช่น โรคเอดส์ กามโรค โรคอ้วน เป็นต้น แม้ว่าโรคหัวใจ ขาดเลือดเกิดจากความเสื่อมของร่างกายแต่ก็เป็นโรคหนึ่งที่พฤติกรรม ของเรามีส่วนทำให้เกิดโรคเร็วขึ้น

โรคหัวใจขาดเลือดคืออะไร

กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้อทั่วไปคือต้องการเลือดไปเลี้ยงโดยผ่านทางหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เรียกว่าหลอดเลือด โคโรนารีย์ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เมื่อหลอดเลือดนี้เกิดการตีบ หรือ ตัน ไม่ว่าจากสาเหตุใดๆก็จะเกิดกลุ่มอาการของโรคที่เรียกว่า “โรคหัวใจขาดเลือด” ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อ หัวใจตาย ผลตามมาคือภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายจนกระทั่งเสียชีวิต

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบเกิดจากไขมันโคเลสเตอรอล และหินปูน (แคลเซียม) ไปสะสมอยู่ในผนังด้านใน ของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจขาดอาหารและออกซิเจน จึงเกิดอาการ เจ็บแน่นหน้าอก หากหลอดเลือด อุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจจะตาย ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างถาวร

เมื่อเราเกิดมาหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจยังสะอาดอยู่ ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น รับประทานอาหารที่ล้วนแต่อุดมไปด้วยไขมัน ไขมันเหล่านี้ จะเริ่มไปสะสมที่หลอด เลือดทั่วร่างกาย แต่ที่จะเกิดปัญหามากในอนาคตคือหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ขบวนการสะสมนี้ใช้เวลานับสิบๆปี กว่าจะทำให้เกิดอาการ การศึกษาศพทหาร อเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม ทหารเหล่านี้อายุยังน้อย แต่พบว่าเกิดการสะสม ของไขมันในหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจขึ้นแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

การศึกษาจากประเทศตะวันตกพบว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดโรคนี้ได้แก่ อายุ (เพราะเป็นโรคของความเสื่อมด้วย) เพศชาย (ฮอร์โมนเอส โตรเจนในเพศหญิงช่วยป้องกันโรคนี้) พันธุกรรม การสูบบุหรี่ ไขมันโคเลสเตอรอล เบาหวาน ความดัน โลหิตสูง และความเครียด ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยง เหล่านี้มากข้อก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากเป็นทวีคูณ

ป้องกันอย่างไรดี

เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงจะเห็นว่าบางข้อเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เพศ อายุ พันธุกรรม เป็นต้น แต่หลายข้อสามารถหลีกเลี่ยงได้ คำแนะนำในการป้องกัน โรคหัวใจขาดเลือดมีดังนี้

หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง

ไขมันโคเลสเตอรอลเป็นไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ สมอง แต่หากมีไขมันนี้ มากเกินไปจะเกิดการสะสมของไขมันในผนังของหลอดเลือดได้ ไขมันที่ร้ายที่สุดคือโคเลสเตอรอลชนิด แอล-ดี-แอล ในทางกลับกันไขมันโคเลสเตอรอล ชนิด เอช-ดี-แอล เป็นไขมันชนิดดีที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ปัจจุบันเราแนะนำให้ ควบคุมระดับไขมันโคเลสเตอรอล ในเลือดไม่ให้เกิน 200 แอล-ดี-แอล ไม่เกิน 130 และ เอช-ดี-แอล ควรมากกว่า 35 (ยิ่งมากยิ่งดี) มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไขมันโคเลสเตอรอลส่วนใหญ่มาจาก ไขมันจากสัตว์และพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว (น้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น รำ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ไม่มีโคเลสเตอรอล) ดังนั้นหลักสำคัญ ของการลดระดับไขมันในเลือดคือการ ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่เราเห็นๆว่ามีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น เนื้อติดมัน หนังเป็ด หนังไก่ ข้างขาหมู ข้าวมันไก่ กะทิ เนย พิซซา เบอร์เกอร์ เป็นต้น โคเลสเตอรอลยังมีมากในเครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ ไข่แดงจากไข่ทุกประเภท (แต่ไม่พบในไข่ขาว) อาหาร ทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม มันปู การรับประทานมังสะวิรัติ หรือแม้กระทั่ง “เจเขี่ย” ก็ช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอล ได้ดี แต่ไม่ควร รับประทานไข่แดงเกิน 2 ฟองต่อสัปดาห์ นอกจากนั้นอาหารประเภทที่มีกากมาก เช่น ข้าวกล้อง ข้าว ซ้อมมือ ซีเรียล ผลไม้ ก็มีส่วนช่วยลดการดูดซึม ของไขมันเช่นกัน ไขมันเอช-ดี-แอลอาจเพิ่ม ให้สูงได้โดยการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่าง สม่ำเสมอ แม้ว่าการดื่มไวน์ หรือแอลกอฮอล์ (ทุกประเภท) ในปริมาณน้อยๆ (1-2 แก้วต่อวัน) จะช่วยหัวใจ โดยเพิ่มไขมัน เอช-ดี-แอล แต่ความเป็นจริงแล้วผลเสียของแอลกอฮอล์ต่อระบบอื่นๆมีมากกว่าผลดีมาก จึงไม่มีแพทย์ท่านใด แนะนำให้ดื่มไวน์เพื่อ ป้องกันโรคหัวใจ

เลิกบุหรี่

ผู้ที่สูบบุหรี่หรือแม้แต่ผู้ได้รับควันบุหรี่สม่ำเสมอโดยไม่ได้สูบเอง ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น การสูบบุหรี่ยังเสี่ยง ต่อการเกิดโรคอื่น อีกมากมาย ทั้งๆที่รู้ว่าอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น แต่ก็ยังมีผู้สูบบุหรี่อยู่อีกมาก การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะไม่ใช่ สิทธิส่วนตัวแต่ประการใด เนื่องจาก ควันบุหรี่ไปทำอันตรายต่อผู้อื่นด้วย หากเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด พบว่าโอกาสเสี่ยงจากโรคหัวใจ ขาดเลือดจะลดลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงผู้ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้น แม้คุณจะเกิดโรคหัวใจขึ้นแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะเลิกบุหรี่

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายที่ได้ประโยชน์ต่อหัวใจคือการออกกำลังกายแบบแอโรบิค หมายถึงการออกกำลังกายต่อเนื่อง เป็นจังหวะ หายใจ สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น การเดินเร็วๆ วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เต้นแอโรบิค เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวต้องทำต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์จึงจะเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ แม้ว่ากีฬาบางชนิด เช่น กอล์ฟ แบดมินตัน เทนนิส จะเป็นการออกกำลังกายที่ดี แต่ไม่ใช่ชนิดแอโรบิค การออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอจะ ช่วย ให้ไขมันชนิดดี คือ เอช-ดี-แอล สูงขึ้น ไขมันชนิดนี้ ช่วยลดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ผลดีอย่างมากของการออกกำลังกายคือช่วยให้จิตใจ แจ่มใส ไม่แก่เร็ว หุ่นดี ระบบขับ ถ่ายปกติ และทำให้ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ดีขึ้นด้วย คุณควรเลือกชนิดการออกกำลังแบบแอโรบิคที่ เหมาะสมกับคุณ

ควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูง

ทั้งเบาหวานและความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วขึ้น ผลดังกล่าวเกิดขึ้นกับหลอดเลือดทั่วร่างกาย แต่ที่จะมีปัญหามาก ก็คือหลอดเลือดที่ตา ไต สมอง และหัวใจ เป็นต้นเหตุสำคัญของอัมพาต ไตวาย และโรคหัวใจขาดเลือด การควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยชลอการดำเนินโรคได้ ดังนั้นท่านควรควบคุมอาหาร รับประทานยาตาม คำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

ทำจิตใจให้ผ่องใส

บุคคลที่มีบุคลิกภาพโกรธ ฉุนเฉียวง่าย ทำงายแข่งกับเวลา อยู่กับความเครียดตลอด พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และยังเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว ดังนั้นหากทำจิตใจให้สงบ แจ่มใส มองโลกในแง่ดี ทำสมาธิ อาจช่วยได้ ผลดีอื่นๆที่ตามมา คือสุขภาพจิตดี มนุษยสัมพันธ์ดี ทำให้มีชีวิตอย่างมีความสุข

ทั้ง 5 ประการเป็นเรื่องที่ พูดง่าย แต่ทำยาก เนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งปรับได้ยากในผู้ใหญ่ จริงๆแล้วไม่ยาก เกินความสามารถของทุกคน แต่ต้องมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำก่อน บุคคลรอบข้าง เช่น ครอบครัว ละเพื่อน ก็มีส่วนสำคัญมาก ที่จะช่วยให้สำเร็จ (หรือล้มเหลว) สิ่งที่ทำง่ายกว่า คือเริ่มปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก ให้รู้จักเลือกรับประทาน (แต่ไม่ใช่ เลือกมาก) ไม่สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจ ให้แจ่มใส หากเด็กไทยทำได้เช่นนี้ เชื่อว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าโรคหัวใจขาดเลือดและโรคอื่นๆควรจะลดล

โรคหัวใจรูมาติก

ชื่อโรคฟังดูแปลกๆนะครับ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยเลย ความเป็นจริงแล้วโรคนี้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข ของบ้านเราอยู่ เนื่องจากโรคนี้มีความสัมพันธ์กับร่างกายหลายระบบ เช่น ผิวหนัง กระดูก-ข้อ ประสาท และ หัวใจ ทำให้ยัง ไม่มีชื่อโรคเป็นภาษาไทยเพราะๆที่เหมาะสม เลยยังคงเรียกทับศัพท์กันไปก่อน

โรคหัวใจรูมาติก คือ อะไร

โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่มักพบในเด็กโดยที่บางครั้งเด็กไม่มีอาการชัดเจน มาทราบอีกครั้ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบว่าเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้น จัดว่าเป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจพิการ(ตีบ รั่ว) ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เด็กในวัยเรียนอาจพบโรคหัวใจรูมาติกได้ประมาณ 0.35-1.4 คนต่อเด็ก 1,000 คน และในผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีพบได้ประมาณ 3 คนต่อ 1,000 คน โดยในผู้ใหญ่ลักษณะที่พบจะเป็นผลจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก ส่วนใหญ่พบในชุมชนแออัด ยากจน ในประเทศกำลังพัฒนา

สาเหตุจากอะไร

โรคนี้เริ่มต้นจากการติดเชื้อคออักเสบ หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบ จากเชื้อโรคที่ชื่อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ (Beta- hemolytic Streptococcus Group A) ซึ่งติดต่อกันง่ายมากในชุมชนแออัด โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือที่ๆมีผู้คนอยู่ หนาแน่น ไม่ถูกสุขลักษณะ บางคนได้รับเชื้อนี้แล้ว เกิดคออักเสบขึ้น รักษาแล้วอาการหายไป แต่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น ร่างกายมี การตอบสนองต่อการติดเชื้อนี้ผิดปกติ โดยร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อ แต่ภูมิต้านทานเหล่านี้กลับมาทำลายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ เช่น ผิวหนังอักเสบ (Erythema marginatum, Subcutaneous nodule) ระบบประสาทผิดปกติเกิดชัก หรือ เคลื่อนไหวผิดปกติ (Chorea) ปวดตามข้อหลายๆข้อ (Polyarthritis) หัวใจอักเสบ (Carditis) ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ผลที่ตามมาจากการเกิดลิ้นหัวใจอักเสบคือเกิดผังผืดเกาะยึดบริเวณลิ้นหัวใจ (fibrosis) ทำให้ลิ้นหัวใจแข็งไม่โปกสะบัดเหมือนเคย เปิดได้ไม่เต็มที่ (ลิ้นหัวใจตีบ) หรือปิดไม่สนิท (ลิ้นหัวใจรั่ว) หรือ ทั้งตีบและรั่วในขณะเดียวกัน โดยอาจจะเป็นลิ้นเดียว หรือ หลายลิ้น ก็ได้

MS1.gif (74552 bytes)
คลิกที่ภาพ

การรักษา

เราอาจแบ่งหลักการรักษาออกได้เป็น

1 รักษาการติดเชื้อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ โดยใช้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ)

2 ลดการอักเสบที่เกิดขึ้นต่อทุกระบบ ยาที่ได้ผลดีมากที่สุดคือ แอสไพริน (aspirin) ในขนาดสูง

3 หากเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะตีบหรือรั่ว ก็ไม่หายขาด คงเหลือความ”พิการ”นั้นไว้ การรักษาตรงนี้ขึ้นกับตำแหน่งลิ้นหัวใจ ที่พิการ และความรุนแรงที่เป็น การรักษาอาจเพียงขยายลิ้นหัวใจที่ตีบ ผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ หรือแม้กระทั่งผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ทั้งนี้ไม่ว่าจะทำวิธีใดก็ไม่หายขาดทั้งสิ้น ยังคงมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่หรือต้องระวังไปตลอดชีวิต

ป้องกันอย่างไร

อย่างที่กล่าวแล้วว่าไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ จะเกิดโรคหัวใจรูมาติก เราไม่ทราบว่าผู้ใดจะเกิดบ้าง หลักการป้องกันที่สำคัญคือ

1 หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ นั่นคือไม่เข้าใกล้ชิดผู้ป่วยคออักเสบ ไข้หวัด

2 หากติดเชื้อเกิดคออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบจาก เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ จะต้องรักษาให้ครบ รับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบ 7-10 วัน

3 หากเกิดการอักเสบที่หัวใจขึ้นแล้ว หรือ เคยเป็นกลุ่มอาการของโรคหัวใจรูมาติกแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำ และทุกครั้งที่เป็นซ้ำ ความ ”พิการ”ของลิ้นหัวใจจะมากขึ้น ดังนั้นจึงต้อง”ป้องกัน”ไม่ให้ติดเชื่อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ ซ้ำอีกโดยการฉีดยาเพนนิซิลิน ทุก 3-4 สัปดาห์หรือรับประทานยาทุกวันต่อเนื่องไปจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ (โดยมากพบในเด็ก) แล้วค่อยมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะหยุด ป้องกันได้หรือยัง

4 การป้องกันโรคนี้ให้ได้ผลดีต้องอาศัยการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปด้วย ประชาชนต้องมีเศรษฐานะดีขึ้น ความรู้ของประชาชนดีขึ้น ติดเชื้อยากขึ้น ได้รับการรักษาทันท่วงที ไม่ซื้อยารับประทานเอง เป็นต้น ปัจจุบันโรคหัวใจรูมาติดเป็นโรคหัวใจที ่”หายาก” พบได้น้อย มากในประเทศพัฒนาแล้ว จนกุมารแพทย์ต่างชาติหลายแห่งเดินทางมาดูงาน ดูผู้ป่วยในบ้านเรา ไม่รู้ว่าน่ายินดี หรือ น่าอายกันแน่

สรุป โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจของประเทศกำลังพัฒนา และ เป็นตัวบ่งชี้ (Index) ประการหนึ่งที่แสดงความเป็นประเทศพัฒนา ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงได้ประโยชน์บ้างที่ให้ประชาชนตื่นตัว รู้จักโรคนี้ ช่วยกันระวังโรคหัวใจรูมาติก ไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกหลาน เรา ในอนาคตเราอาจจะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจากโรคนี้ลดลงเรื่อย

ลิ้นหัวใจ

ลิ้นหัวใจเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจที่ทำหน้าที่คล้ายประตูกั้นไม่ให้เลือดที่อยู่ในแต่ละห้องหัวใจ่ไหลย้อนกลับขณะที่ห้องหัวใจบีบตัว ลิ้นหัวใจจึงทำหน้าที่คล้ายประตู ปิด-เปิด ระหว่างห้องหัวใจตลอดเวลาตั้งแต่เกิด หัวใจคนเรามีลิ้นหัวใจอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ
ไตรคัสปิด (Tricuspid) อยู่ระหว่าหัวใจห้องขวาบนและล่าง
พูลโมนารี่ (Pulmonary) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดแดงที่ไปปอด
ไมตรัล (Mitral) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง
เอออร์ติค (Aortic) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกาย

ลักษณะของลิ้นหัวใจประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อเป็นแผ่น บางหรือหนา และจำนวนแผ่นเนื้อเยื่อจะขึ้นกับตำแหน่งของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจไมทรัล ซึ่งเป็นลิ้นที่มีความสำคัญมากลิ้นหนึ่งประกอบไปด้วยแผ่น (leaflet) 2 แผ่น เป็นรูปคล้ายอานม้า หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนของลิ้นเอออร์ติค เป็นจะแผ่นรูปเสี้ยงวงกลมบางๆ จำนวน 3 แผ่น เป็นต้น แผ่นเหล่านี้ดูเหมือนอ่อนแอ ขาดง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วมีความแข็งแรงมาก

ลิ้นหัวใจรั่ว

หัวใจห้องบน (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัวหลังจากลิ้นหัวใจเปิดออก เลือดจะไหลจากหัวใจห้องบนมายังห้องล่าง เมื่อเลือดไหลหมด แล้วหัวใจห้องล่าง (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัว แรงดันที่เกิดขึ้นจะดันให้ลิ้นหัวใจเคลื่อนมาชนกัน อยู่ในตำแหน่งที่ปิดสนิท ไม่มีเลือด ไหลย้อนกลับไปหัวใจห้องบนอีก ปรากฏการณ์นี้ก็เกิดเช่นเดียวกันกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจาก สาเหตุใดๆก็ตาม ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก เราเรียกว่า "ลิ้นหัวใจตีบ" ซึ่งไม่ใช่ "หัวใจตีบ" หรือ "หลอดเลือดตีบ" และเมื่อถึงคราวต้องปิด แต่ปิดไม่สนิท มีรู หรือ ช่อง ให้เลือดไหลย้อนกลับได้ เราเรียกว่า "ลิ้นหัวใจรั่ว" ในหลายๆครั้งที่ลิ้นหัวใจอยู่ในสภาพที่แข็ง ปิดก็ปิดไม่สนิท เปิดก็ไม่ได้เต็มที่ นั่นคือ ทั้งตีบและรั่วในลิ้นเดียวกัน

สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว

1 มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด โดยอาจไม่มีอาการใดๆในวัยเด็กก็ได้
2 ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอาย
เนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้น ลิ้นหัวใจ จะหนาตัวขึ้นและเริ่มมีหินปูน (calcium) เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อ ทำให้ปิดไม่สนิท
3
โรคหัวใจรูห์มาติค ซึ่งเริ่มต้นจากการติดเชื้อ Streptococus ในคอ ซึ่งพบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบและรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหา สาธารณสุขของประเทศอยู่ พบบ่อยๆ ในผู้ป่วยเศรษฐานะต่ำ หรือ อยู่ในชุมชนแออัด
4
เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด (ในผู้ติดยา เสพติด) การเจาะตามร่างกาย(เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ) เป็นต้น

ตรวจอย่างไร

การตรวจร่างกายจะให้การวินิจฉัยโรคได้ดี โดยจะได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ เรียกว่า "เสียงฟู่" หรือ murmur ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจาก ลิ้นหัวใจตีบก็ได้ รั่วก็ได้ แล้วแต่ตำแหน่งของลิ้นหัวใจ อย่างไรก็ตามเสียงฟู่ไม่ได้พบเฉพาะในโรคลิ้นหัวใจเท่านั้น ยังพบในหลายกรณี เช่น คนปกติบางราย คนตั้งครรภ์ ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว ฯลฯ

การตรวจพิเศษที่ช่วยในการวินิจฉัยลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งสามารถบอกความรุนแรงและลักษณะของลิ้นหัวใจได้ดีที่สุด คือ การตรวจ ด้วยคลื่นสะท้อน หรืออัลตราซาวน์ เราเรียกการตรวจชนิดนี้ว่า เอคโค่ (echocardiogram) ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือ และ ความชำนาญของแพทย์ในการทำ และแปลผลด้วย บ่อยครั้งที่การใช้เครื่องมือ hi-tech นี้ก็มีผลเสีย เนื่องจากเครื่องมือมี "ความไว" เกินไป สามารถตรวจจับการ "รั่ว" เพียงเล็กน้อยได้ ซึ่งการรั่วเล็กน้อยเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญเลย แต่เมื่อแพทย์บอกผู้ป่วยไป ก็ทำให้เกิดความกังวลแก่ผู้ป่วยและญาติ (แต่ไม่บอกก็ไม่ได้เช่นกัน)

การตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอก แม้จะไม่สามารถวินิจฉัยลิ้นหัวใจได้โดยตรง แต่ก็สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการบอกความรุนแรง ของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในสมัยก่อนเอกซ์เรย์ทรวงอกมีความสำคัญอย่างมาก และต้องถ่ายหลายๆท่าประกอบกัน แต่ในปัจจุบัน จำเป็นที่ต้องถ่ายหลายท่าลดลง เพราะ "เอคโค่" ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลิ้นหัวใจโดยตรง

อาการเป็นอย่างไร

ลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยจะไม่แสดงอาการใดๆ หรือแม้แต่รั่วมากในหลายๆรายก็ไม่แสดงอาการ อาการต่างๆ จะปรากฏเมื่อหัวใจ ไม่สามารถทนรับกับ ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นได้ต่อไปอีก อาการที่เกิดจึงเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) เช่น หอบเหนื่อย ขาบวม ใจเต้นเร็ว เป็นต้น ดังนั้นการตรวจร่างกาย หรือ ตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้นจึงสามารถบอกได้

รักษาอย่างไร

แม้ว่าลิ้นหัวใจทำหน้าที่คล้ายประตู แต่หากเปิด-ปิดไม่สะดวกก็ไม่สามารถรักษาด้วยการหยอดน้ำมันเหมือนประตูได้ ต้องเปลี่ยน อย่างเดียว หมายความว่า ต้องแก้ไขที่ตัวลิ้นหัวใจ จะด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็ตาม แพทย์จะทำการผ่าตัด เฉพาะในรายที่ลิ้นหัวใจเสีย มากเท่านั้น ดังนั้น หากลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง แพทย์จะแนะนำให้ติดตามดูอาการ ไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งหลายๆราย เสียชีวิตด้วยโรคอื่นก่อนที่จะเสียชีวิตจากหัวใจ

การปฏิบัติตัว

หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มากก็สามารถมีกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ส่วนถ้ารั่วมาก มักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งก็ถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย หัวใจท่านอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นท่านต้องทะนุถนอมหัวใจท่านให้มากๆ ไม่ทำร้ายหัวใจด้วย อาหารเค็ม บุหรี่ อาหาร ไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้นหากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือ ทำผ่าตัดใดๆ ก็ต้องบอกแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อน

หากท่านมีปัญหาสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ หรือ มีลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย (เพราะคิดว่าแข็งแรง ไม่มีอาการ) อยากแนะนำให้ ท่านปรึกษาอายุรแพทย์ หรือ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ใกล้บ้านท่าน ซึ่งปัจจุบันนี้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ

valvular.gif (309923 bytes)

ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคแรงดันเลือดสูง ภาษาอังกฤษเรียก Hypertension ภาษาชาวบ้านเรียกง่ายๆว่า “โรคความดัน” ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักกันมาก โรคหนึ่ง แต่เชื่อไหมครับ จากการศึกษาพบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 68.4 เท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองมี ความดันโลหิตสูง และมีเพียงร้อยละ 53.6 ที่รับการรักษา และในกลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 27.4 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี นั่นเป็นสถิติต่างประเทศ สำหรับบ้านเรายังล้าหลังเรื่องข้อมูลพวกนี้อยู่มาก ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจ และ เห็นความสำคัญของการรักษาความดันโลหิตสูงมากขึ้น

ความดันโลหิตคืออะไร

ลองนึกภาพสายยางรดน้ำต้นไม้ มีน้ำไหลเป็นจังหวะการปิดเปิดของก๊อก เมื่อเปิดน้ำเต็มที่ น้ำไหลผ่านสายยาง ย่อมทำให้เกิดแรง ดันน้ำขึ้นในสายยางนั้น และเมื่อปิดหรือหรี่ก๊อก น้ำไหลน้อยลง แรงดันในสายยางก็ลดลงด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ก็เป็น ระบบไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย โดยมีหัวใจ ทำหน้าที่คล้ายก๊อก หรือ ปั๊มน้ำ คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เลือดไหลแรงดี ความดันก็ดี หากหัวใจบีบตัวไม่ดี เลือดไหลอ่อน ความดันก็ลดลง นอกจาก นั้นแล้วความดันในหลอดเลือดยังขึ้นกับสภาพของ หลอดเลือดด้วย หากหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี จะปรับความดันได้ดี ไม่ให้สูงเกินไป แต่หาก หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น หรือ แข็งตัว ก็จะทำให้ความดันเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ค่าความดันโลหิตจะมีสองค่าเสมอ เรียกว่า “ตัวบน” และ “ตัวล่าง” ค่าแรกเป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะที่หัวใจ บีบตัว ไล่เลือดออก จากหัวใจ ส่วนตัวล่างคือความดันของเลือดที่ยังค้างอยู่ในหลอดเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว ผู้ป่วยความดัน โลหิตสูงควรจำค่าทั้งสองไว้ เพราะมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความดันโลหิตเท่าไรเรียกว่าปกติ

ปัจจุบันความดันโลหิตที่เรียกว่า “เหมาะสม” ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้นๆว่า 120/80 ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ ต่ำกว่า 130/85 มม.ปรอท ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท จะเรียกได้ว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท อย่างไรก็ตามก่อน ที่จะเรียกว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงได้นั้น แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลายๆครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และที่สำคัญเทคนิค การวัดต้องถูกต้องด้วย

การจำแนก

ความดันโลหิต "ตัวบน" (มม.ปรอท)
ความดันโลหิต "ตัวล่าง" (มม.ปรอท)
ความดันโลหิตที่เหมาะสม <> และ <>
ความดันโลหิตปกติ <> และ <>
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อยแต่ยังปกติ 130-139 หรือ 85-89
ความดันโลหิตสูง


ระยะที่ 1 (อ่อน) 140-159 หรือ 90-99
ระยะที่ 2 (ปานกลาง) 160-179 หรือ 100-109
ระยะที่ 3 (รุนแรง) > 180 หรือ > 110

การวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

เครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิตที่เป็นมาตราฐานคือผ้าที่มีถุงลมพันที่แขน และ ใช้ปรอท ในขณะวัดความดันโลหิตผู้ถูกวัดความดัน โลหิตควรจะอยู่ ในท่านั่งสบายๆ วัดหลังจากนั่งพักแล้ว 5 นาที ไม่วัดหลังจากดื่มกาแฟ หรือ สูบบุหรี่ ขนาดของผ้าพันแขนก็ต้อง เหมาะสมกับแขนผู้ถูกวัดด้วย หากอ้วนมากแล้วใช้ผ้าพันแขนขนาดปกติ ค่าที่ได้จะสูงกว่าความเป็นจริง การปล่อยลมออกจาก ที่พันแขนก็มีความสำคัญอย่างมาก และ เป็นที่ละเลย กันมากที่สุด คือจะต้องปล่อยลมออกช้าๆ ไม่ใช่ปล่อยพรวดพราดดังที่เห็น หลายๆแห่งทำอยู่ การทำเช่นนั้นทำให้ได้ค่าที่ผิดไปจากความเป็นจริงมาก เครื่องวัดความดันก็ต้องได้มาตราฐาน ไม่ใช่เครื่องเก่า มากหรือมีลมรั่ว เป็นต้น ตำแหน่งของเครื่องวัดก็ควรอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ และต้องวัดซ้ำๆ เพื่อหาค่าเฉลี่ย

handandpump.gif (171568 bytes)
ภาพจาก HeartPoint Gallery

ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ออกแบบมาให้วัดความดันโลหิตได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยผู้วัดไม่จำเป็นต้องมีความรู้เลย เพียงแค่ใส่ถ่าน พันแขนและกดปุ่ม เครื่องจะวัดให้เสร็จ อ่านค่าเป็นตัวเลข เครื่องแบบนี้มีขายตามศูนย์การค้าทั่วไป โดยทั่วไปแล้วใช้งานได้ดี (แบบพันแขน) แต่ก็ต้องนำเครื่องมา ตรวจสอบความถูกต้องเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องชนิดนี้ไว้วัดที่บ้านด้วย ในอนาคตเครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอทอาจจะเลิกใช้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลทางสิ่งแวดล้อม(ปรอทเป็นสารอันตราย) และ อีกเหตุผลหนึ่งคือใช้เทคนิคมากในการวัดให้ถูกต้อง

ความรู้ปัจจุบันพบว่าการวัดความดันโลหิตที่ดีที่สุดคือการวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหลับและตื่น เพื่อดูแบบแผน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และหาค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของช่วงกลางวันและกลางคืน ค่าที่ถือว่าปกติโดยการวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงนี้ คือ ขณะตื่นความดันโลหิตเฉลี่ยควร น้อยกว่า 135/85 มม.ปรอท และเมื่อหลับความดันโลหิตเฉลี่ยควรน้อยกว่า 120/75 มม.ปรอท

ข้อที่ควรทราบบางประการเกี่ยวกับความดันโลหิต

ประการแรกคือความดันโลหิตเป็นค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกวินาที จึงไม่แปลกที่วัดซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แล้วได้คนละค่า แต่ก็ไม่ควรจะแตกต่างกันนัก ความดันโลหิตยังขึ้นกับท่าของผู้ถูกวัดด้วย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน นอกจากนั้นแล้ว ยังขึ้นกับ สิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร บุหรี่ อากาศ กิจกรรมที่ทำอยู่ รวมทั้งจิตใจด้วย

ประการต่อมาคือภาวะความดันโลหิตสูงปลอม หมายความว่าจริงๆแล้วผู้ป่วยไม่ได้มีความดันโลหิตสูง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ เมื่อมาวัดความดันโลหิต ที่คลินิกแพทย์หรือโรงพยาบาล จะวัดได้สูงกว่าปกติทุกครั้ง แต่เมื่อวัดโดยเครื่องวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงหรือวัดด้วยเครื่องอิเลคโทรนิคเองที่บ้าน กลับพบว่าความดันปกติ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า White coat hypertension หรือ Isolated clinic hypertension กลุ่มนี้มีอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูงจริงๆ

ความดันโลหิตสูงเกิดจากอะไร และ มีอาการอย่างไร

จนถึงปัจจุบันนี้ความดันโลหิตสูงก็ยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารรสเค็ม เชื้อชาติ ส่วนน้อยเกิด (น้อยกว่าร้อยละ 5) จากความผิดปกติของหลอดเลือด ไตวาย หรือ เนื้องอกบางชนิด ความดันโลหิตสูงได้ชื่อว่าเป็นฆาตกรเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ทราบว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูง หรือ แม้จะทราบแต่ละเลยไม่สนใจรักษาเพราะรู้สึกปกติ สบายดี ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่างๆตามมาภายหลัง ผู้ป่วยส่วนน้อยที่มี อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ

ทำไมต้องลดความดันโลหิต

การที่ปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือด เลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต จึงทำให้หลอดเลือดสมองแตก หรือ ตีบตัน เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โรคหัวใจขาดเลือด ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายตามมา เห็นได้ว่า การละเลย ไม่สนใจรักษาก็จะมีโทษต่อตนเอง ในอนาคต เป็นที่น่าเสียดายที่ผลแทรกซ้อนต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมความดันโลหิต แม้จะไม่สามารถป้องกัน ได้ทั้งหมดก็ตาม ดังนั้นการรักษาความดันโลหิตสูงในวันนี้ ก็เพื่อที่จะลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคตลงให้มากที่สุดนั่นเอง

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาความดันโลหิตสูง

Wbc02tnc.gif (1419 bytes) ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ การรับประทานยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาตลอดไป หากหยุดยา ความดันโลหิตอาจกลับมาสูงอีกได้

Wbc02tnc.gif (1419 bytes) เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แม้ความดันโลหิตจะสูงมากๆก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้อาการมาพิจารณาว่า วันนี้จะรับประทานยา หรือไม่ เช่น วันนี้สบายดีจะไม่รับประทานยาเช่นนั้นไม่ได้

Wbc02tnc.gif (1419 bytes) การรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลาเป็นระยะเวลานาน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกทางสมอง หัวใจ ไต และหลอดเลือดได้

Wbc02tnc.gif (1419 bytes) การรักษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การไม่ใช้ยา กับการใช้ยา การไม่ใช้ยาหมายถึงการลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่ และหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย อาจเริ่มการรักษาโดยไม่ใช้ยา แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคหัวใจอยู่ด้วยก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย

Wbc02tnc.gif (1419 bytes) ปัจจุบันมียาลดความดันโลหิตอยู่หลายกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ราคาก็ต่างกันมาก ตั้งเม็ดละ 50 สตางค์ ถึง 50 บาท ยาลดความดัน โลหิตที่ดี ควรจะออกฤทธิ์ช้าๆ ไม่ทำให้ความดันโลหิตแกว่งขึ้นลงมากจนเกินไป สามารถควบคุมความดัน โลหิตได้ดีตลอด 24 ชั่วโมง โดยการรับประทาน เพียงวันละ 1 ครั้ง มีผลแทรกซ้อนน้อย แต่น่าเสียดายว่ายังไม่มียาใดที่วิเศษ ขนาดนั้น ยาทุกตัวล้วนก็มีข้อดี ข้อด้อย และ ผลแทรกซ้อนทั้งสิ้น อย่าลืมว่า การปล่อยให้ ความดันโลหิตสูงอยู่นานๆ ก็เป็นผลเสีย ร้ายแรงเช่นกัน จึงควรติดตามการรักษาโดยการวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หากมี ผลแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ท่านเดิมเพื่อปรับเปลี่ยนยา ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อยๆ เพราะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง

Wbc02tnc.gif (1419 bytes) การรักษาความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยสูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นต้องรักษา แต่ต้องรักษาด้วยความระมัด ระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากหากลด ความดันโลหิตมากเกินไป ก็อาจเกิดผลเสียขึ้นได้

Wbc02tnc.gif (1419 bytes) นอกจากการรับประทานยาแล้ว การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่องใส งดอาหารเค็ม ก็จะช่วยให้ ควบคุมความดันโลหิต ได้ดียิ่งขึ้น

โรคความดันโลหิตต่ำเป็นอย่างไร รักษาโดยดื่มเบียร์จริงหรือ

ความจริงแล้วไม่มี “โรคความดันต่ำ” มีแต่ภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายขาดสารน้ำ เช่น ท้องเสีย อาเจียน เสียเลือด อากาศร้อนจัด หรือจากยาบางชนิด ความดันโลหิตที่วัดได้ 90/60 มม.ปรอท ไม่ได้หมายความว่าเป็นความดันโลหิต ที่ต่ำกว่าปกติ คนจำนวนมากมีความดันโลหิตขนาดนี้ โดยไม่มีอาการผิดปกติ อาการหน้ามืด เวียนศีรษะบ่อยๆ ที่คนส่วนใหญ่ คิดว่าเป็นจาก "ความดันต่ำ" นั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ มักจะเกิดจากการ ขาดการออกกำลังกาย มากกว่าที่จะเกิดจากภาวะ ความดันโลหิตต่ำ การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ ต้องรักษาที่สาเหตุ ไม่ใช่การดื่มเบียร์อย่างที่เข้าใจกัน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย โดยเฉพาะในขณะนี้พบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นสาเหตุ ที่ทำให้ มีจำนวนคนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจากการประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่าน ผู้อ่านควรมีความรู้ความเข้าใจ ถึงอาการ ที่สำคัญของโรคนี้

หัวใจคนเราเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักที่สุดอวัยวะหนึ่ง หัวใจมีการเต้น การบีบตัวตั้งแต่แรกเกิดจนวินาทีสุดท้ายที่เราหมดลมหายใจ ดังนั้นหัวใจจึง ต้องมีหลอดเลือดซึ่งทำหน้าที่นำเลือดจากหลอดเลือดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย สารอาหาร พลังงาน และ ออกซิเจนไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อให้ กล้าม เนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้ามี ปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ไม่ว่า จะเป็นการตีบหรือการอุดตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกหล่อเลี้ยง โดยหลอดเลือดนั้นขาดเลือดหรือตายไป ทำให้กล้ามเนื้อ หัวใจบีบ ตัวได้ไม่ดี ผลที่ตามมาคือหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยง อวัยวะต่างๆได้เพียงพอ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

normalcoronary.jpg (71527 bytes)
ภาพตัดขวางของหลอดเลือดหัวใจที่ปกติ

stenoticcoronary.jpg (95320 bytes)
ภาพตัดขวางของหลอดเลือดหัวใจที่ตีบกว่าปกติ

เหตุใดหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจจึงมีการตีบตัน

ถ้าจะเปรียบไปแล้ว หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจก็เปรียบเหมือนกับท่อส่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ ซึ่งเมื่อมีการใช้งานไปนานๆก็ย่อม เกิดการอุดตันขึ้น จากเศษตะกอนต่างๆ หลอดเลือดแดงของหัวใจก็เช่นเดียวกัน การตีบของหลอดเลือดแดงนั้น ส่วนหนึ่งเกิดเมื่อ คนเราอายุมากขึ้น โดยธรรมชาติ ผนังหลอดเลือดก็จะมีการหนาตัวขึ้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจึงเป็นโรคของผู้ใหญ่วัยกลางคน และวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ในคนบางคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ เมื่ออายุยังไม่มาก เนื่องจากมีปัจจัยบางประการที่ส่งเสริมให้ผนังหลอดเลือด มีการตีบและหนาตัวเร็วขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ มากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่

ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบตันและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตายจะมีอาการอย่างใด

อาการที่สำคัญที่สุดคืออาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก เหมือนมีอะไรมาทับหรือบีบรัด อาการเตือนในระยะแรกๆคือ มีอาการ เจ็บแน่นหน้าอกขณะที่ออก แรงมากๆ เช่น เล่นกีฬา เดินขึ้นที่สูงๆ หรือเวลาออกไปเดินหลังจากทานอาหารอิ่ม เมื่อหลอดเลือด มีการตีบมากขึ้น อาการเจ็บหน้าอกก็จะเป็นได้ง่ายขึ้น เช่น เดินเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ขึ้นบันไดเพียง 1-2 ชั้น อาบน้ำเย็นๆ และสุดท้าย อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไรก็เจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้าม เนื้อหัวใจ ขาดเลือดจะเป็นอยู่นานเพียง 5-10 นาที เวลาพัก หรือ อมยาขยายหลอดเลือดแล้วจะดีขึ้น แต่อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะเจ็บรุนแรงกว่า นานกว่า อมยาขยาย หลอดเลือดก็ไม่ดีขึ้น และอาจมีอาการเหนื่อยหอบ เหงื่อแตกอย่างมากร่วมด้วย

นอกจากอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันแล้ว ผู้ป่วยอาจมาด้วยเรื่องเหนื่อยง่าย เหนื่อยผิดปกติ ดังนั้น จึงใคร่ขอแนะนำ ให้ท่านผู้อ่านที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นไปขอรับการปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งแน่นอนที่สุดถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในขณะ ที่อาการต่างๆยังไม่รุนแรงมาก โอกาส ในการรักษาให้ดีขึ้นก็สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงมากๆ อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะทำได้อย่างไร

การรักษาอาจแบ่งง่ายๆเป็นการใช้ยา การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (เรียกว่าผ่าตัด "บายพาส") และ ใช้ลูกโป่งเพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบ ทั้งนี้และทั้งนั้นการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจะเหมาะสมกับผู้ป่วยรายใด ก็คงต้องอยู่ใน ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และ ความต้องการของผู้ป่วยด้วย

สุดท้ายนี้คงต้องควบคุมปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้หลอดเลือดตีบได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น การงดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหาร การลดไขมันในเลือด และการควบคุมเบาหวานให้ดีด้วย

newcoronartdisease.gif (145095 bytes)
ภาพ Animation แสดงการตีบ ตัน ของหลอดเลือเลี้ยงหัวใจ
แผ่นสีเหลืองที่เห็นคือแผ่นไขมันที่เกาะบนผนังหลอดเลือด

Cholesterol

มีหลายบทความในเว็บสุขภาพต่างๆเกี่ยวกับไขมันในเลือด จนผมแทบไม่ต้องแนะนำแล้ว แต่เมื่ออ่าน ดูเห็นว่าเว็บส่วนใหญ่มิได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษานัก อีกทั้งพบว่ามากกว่า 50 % ของคน กรุงเทพฯ มีระดับไขมัน Cholesterol มากกว่า 240 มิลลิกรัมต่อดล. ซึ่งสูงทีเดียว จึงขอนำมาเล่า ให้ฟังอีกครั้ง

ไขมันในเลือดมีอะไรบ้าง
ไขมันในเลือดมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือด การเกิดภาวะ หลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) แตกต่างกันไปบ้าง ไขมันที่มีความสำคัญ มีดังนี้

คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
เป็นไขมันที่มีความจำเป็นสำหรับเซลต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลสมอง เซลประสาท ร่างกายสามารถสังเคราะห์ไขมันนี้ได้เองที่ตับ (ผู้ป่วยโรคตับ หรือ มะเร็ง จึงมีคอเลสเตอรอลต่ำ) และ ได้จากอาหารด้วย อาหารที่มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ อาหารมันๆต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้จาก ไขมันสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน หมูติดมัน หมูสามชั้น ข้าวมันไก่ ขาหมู เครื่องใน หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไข่ปลา กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม แกงกะทิ เป็นต้น

เมื่อไปเจาะเลือดเพื่อตรวจคอเลสเตอรอล ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจ คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) แต่ความจริงแล้ว ยังมีคอเลสเตอรอลย่อยๆอีก คือ แอล-ดี-แอล (LDL-Cholesterol) วี-แอล-ดี-แอล (VLDL-Cholesterol) เอช-ดี-แอล (HDL-Cholesterol)

LDL-C
จัดเป็นไขมัน"ตัวร้าย"ที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังของหลอดเลือดแดงทั้งร่างกาย เช่น สมอง (เกิดอัมพาต) หัวใจ (เกิดโรคหัวใจขาดเลือด) ไต (เกิดไตวาย) อวัยวะเพศ (หย่อนสมรรถ ภาพทางเพศ) เป็นต้น พบว่าความผิดปกติเหล่านี้สัมพันธ์กับระดับ Total cholesterol และ LDL-C อย่างมาก

HDL-C
ตรงข้ามกับ LDL-C ไขมัน HDL-C นี้เป็น"พระเอก"ช่วยนำเอาไขมันที่สะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ออกมา แต่ทำงานช้ากว่าผู้ร้ายเสมอ ระดับไขมัน HDL-C ต่ำจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ในทาง กลับกันหากยิ่งสูงยิ่งดี ช่วยป้องกันโรคนี้ เราสามารถเพิ่ม HDL-C ให้สูงได้ด้วย การหยุดบุหรี่ ออก กำลังกายแบบแอโรบิคสม่ำเสมอ ลดน้ำหนัก ยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์จำนวนเล็กน้อย (แต่ผมไม่ แนะนำ) HDL-C นี้ก็ถูกควบคุมโดยพันธุกรรมเช่นกัน ดังนั้นบางรายทำอย่างไร HDL-C ก็ไม่สูงขึ้น

ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ Cholesterol แต่ก็มีความสำคัญเช่นกัน พบว่ามีความสัมพันธ์กับโรค หัวใจขาดเลือด แต่ความสัมพันธ์นี้อาจไม่ "แรง" หรือ "ชัดเจน" เหมือน cholesterol นัก พบได้บ่อย มากในผู้ที่อ้วน เบาหวาน ดื่มสุราประจำ หรือมีโรคบางชนิดอยู่ด้วย ที่ว่าความสัมพันธ์กับโรคหัวใจไม่ ชัดเจนก็เพราะผู้ที่มีไขมันชนิดนี้สูง มักมีปัจจัยเสี่ยงข้ออื่นๆของโรคหัวใจรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังไม่มี การศึกษายืนยันว่าการลดไขมัน Triglycerides จะลดโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด (แตกต่างจาก ไขมัน Cholesterol ที่มีการศึกษาแน่นอนว่าการลดระดับไขมัน Cholesterol ได้ประโยชน์ทั้งใน ผู้ที่ยังไม่มีโรคหัวใจ หรือ เกิดโรคหัวใจขึ้นแล้ว)

Lipoprotein a หรือ Lp (a)
เป็นไขมันที่เกาะรวมอยู่กับโปรตีน ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือดเช่นเดียวกันกับ LDL-C โดยทั่วไปไม่นิยมส่งตรวจเนื่องจากราคาแพงและไม่สามารถทำได้แพร่หลาย

ค่าปกติของไขมันในเลือด
ความจริงแล้วไม่มีค่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากหากเอาผู้คนที่ปกติ แข็งแรงดีมาตรวจหาระดับ Cholesterol อาจพบว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 240 มิลลิกรัมต่อดล. ซึ่งถือว่าผิดปกติ ดังนั้นเราเรียกว่า "ค่าที่แนะนำ" จะเหมาะสมกว่า ค่าที่แนะนำนี้เปลี่ยนแปลงไปตามความรู้ทางการแพทย์ สมัย 10-15 ปีก่อน ถือว่า ไขมัน Cholesterol ไม่ควรเกิน 250 มิลลิกรัมต่อดล. แต่ความรู้ในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงค่านี้เป็น Total Cholesterol น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อดล.และ LDL-C น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อดล. ในผู้ที่ยังไม่เกิดโรค แต่สำหรับผู้ที่เกิดโรคหัวใจขึ้นแล้ว ควรรักษาให้ต่ำกว่านี้ คือ LDL-C ควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อดล. ในอีก 5 ปีข้างหน้าตัวเลขเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปอีกแน่นอน

สำหรับไขมัน Triglycerides แนะนำให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อดล. และมีหลายท่านพยายามให้น้อย กว่า 150 มิลลิกรัมต่อดล. ซึ่งผมยังไม่เห็นด้วยนัก

การศึกษาเกี่ยวกับไขมัน Cholesterol สรุปได้ดังนี้

  • Total Cholesterol, LDL-C สัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพาต การเสียชีวิตจากโรคหัวใจ
  • ไขมัน Cholesterol สูงตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก หรือ วัยรุ่น มีโอกาสเกิดปัญหาจากโรคหัวใจ ขาดเลือดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
  • การลดระดับไขมัน Cholesterol ได้ประโยชน์แน่นอน ทั้งในกรณีที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ และ เกิดโรคหัวใจขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้ประโยชน์ทุกราย หรือ ทุกคน เราก็ไม่ ทราบว่าผู้ใดจะได้ประโยชน์ ผู้ใดจะไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเรื่องของสถิติ ลดโอกาสเสี่ยงต่างๆลงเท่านั้น
  • การควบคุมไขมันให้ต่ำ ช่วยลดโอกาสเกิดอัมพาต (stroke) ด้วย
  • ในผู้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ ควรให้ไขมัน LDL-C ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม ต่อดล. เนื่องจากจะช่วยชลอการตีบของหลอดเลือด และ ช่วยให้แผ่นไขมันไม่แตกง่าย การแตก ของแผ่นไขมันทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย (heart attack)
  • ในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง การควบคุมอาหารอย่างเดียวสามารถลดไขมันได้น้อย และ มักจะ ไม่ได้ระดับที่ต้องการ
  • การรักษาไขมันในเลือด เป็นการรักษาเพื่อหวังผลในระยะยาว หมายถึง ต้องควบคุมให้ไขมันใน เลือดต่ำอยู่ตลอดเวลา เป็นระยะเวลานาน อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป จึงจะได้ประโยชน์จากยา ดังนั้น การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากยา เสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์
  • ยาที่ดีที่สุดสำหรับการลด LDL-C ในขณะนี้คือยากลุ่ม Statin ซึ่งมีหลายตัว ผลแทรกซ้อน จากยาต่ำมาก ยากลุ่ม Fibrate เช่น Gemfibrozil (Lopid) สามารถลด Triglycerides ได้ดี แต่สำหรับ LDL-C แล้วสู้กลุ่ม Statin ไม่ได้ ยา Cholestyramine (Questran) สามารถลด LDL-C ได้ดีเช่นกัน แต่รับประทานยาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถรับประทานได้นานๆ

การลดไขมันในเลือดเป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ที่มี Total Cholesterol มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อดล. ควรเริ่มต้นจากการควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ไขมันจากสัตว์ ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก หากไขมันในเลือดยังสูงอยู่ หรือ มีโรคหัวใจ ท่านควรรับประทานยา (แนะนำกลุ่ม Statin) และท่านต้อง เข้าใจว่าหากหวังผลในการชลอการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ ท่านต้องรับประทานยาสม่ำเสมอเป็น ระยะเวลานาน หลายปี แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าหากรับประทานยาแล้วจะไม่เกิดโรค เป็น เพียงลด "โอกาสเกิดโรค" เท่านั้น

Friday, October 20, 2006

ปวดหลัง

“ปวดหลัง” เป็นหนึ่งในอาการปวดที่มักพบว่าเกิดกับคนทั่วไปได้บ่อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ วัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุ สัปดาห์นี้ลองมาทำความรู้จักกับลักษณะของกระดูกสันหลัง และวิธีปรับปรุงท่าทางการทำงานของร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดร้าวขึ้นอีกต่อไป

อันดับแรกต้องทราบกันเสียก่อนว่ากระดูกสันหลังของคนเรานั้น เป็นโครงสร้างที่เปราะบางและสลับซับซ้อน กระดูกสันหลังแต่ละปล้องนั้นเชื่อมต่อกันด้วย หมอนรองกระดูก และข้อต่อของตัวกระดูกสันหลัง ทำให้ขยับเคลื่อนไหวได้ ในแกนกลางของโพรงกระดูกสันหลัง เป็นที่อยู่ของไขประสาทสันหลัง ที่ต่อเนื่องจากสมองและมีแขนงเป็นรากประสาทสันหลังส่งไปเลี้ยง แขน ลำตัวและขา

เนื่องจากกระดูกสันหลังนั้นมีโครงสร้างที่ซับซ้อน จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าตรงไหนที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ ปวดหลัง แต่ก็อาจจะพูดรวมๆ ได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่มักเริ่มจากการที่กล้ามเนื้อหลังเกร็ง และทำงานในท่าทางใดซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่น ยกของหนัก หรือนั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน

เว็บไซต์บีบีซีนิวส์ อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในอังกฤษที่เชื่อว่าปัจจัยหลัก ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้นเพราะว่าแนวโน้ม ของการใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่นั้นค่อนข้างจะนั่งอยู่กับที่ ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน การนั่งนานๆในท่าเดิม และบ่อยครั้งที่ไม่มีอะไรรองรับอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพหลังได้ หรือพวกเฟอร์นิเจอร์หนานุ่มน่านั่งนั้น ก็ยิ่งมีส่วนทำให้นั่งผิดท่ากันได้มากขึ้น

วิธีที่จะลดความเสี่ยงต่ออาการปวดหลัง คือต้องนึกไว้ว่าสภาพตามธรรมชาติของกระดูกสันหลังนั้นเป็นรูปตัวเอส (S) ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดจึงต้องพยายามรักษาให้มันคงรูปนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เช่น ยกของหนัก หรือนั่งทำงาน

ที่สำคัญต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อหลัง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่สุขภาพดี ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดหลังได้ด้วยตัวเอง